กองทุนเพื่อการรักษาโรคตาในเด็ก (Children’s Eye Care Fund)
กองทุนเพื่อการรักษาโรคตาในเด็ก
(Children’s Eye Care
Fund)
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
สภากาชาดไทย
ความสำคัญของกองทุน
ในแต่ละเดือน
ผู้ป่วยเด็กที่เข้ารับการรักษาโรคตาที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มีประมาณ 1,000 คน
เด็กจำนวนมากมีฐานะยากจน
การรักษาตามสิทธิไม่ครอบคลุมยาและอุปกรณ์การรักษาทั้งหมดสำหรับเด็ก จึงทำให้เด็กส่วนหนึ่งไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม
ส่งผลให้การรักษาไม่ได้ผล เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ง่าย
และมีโอกาสสูญเสียการมองเห็นตลอดชีวิต
นอกจากนี้
โรคตาในเด็กจำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยเร็วที่สุด
หากมองไม่ชัดเป็นเวลานานจะเกิดโรคสายตาขี้เกียจ ซึ่งหมายถึงการที่สมองเลิกใช้ตาดวงนั้น
ทำให้เด็กมองไม่ชัดตลอดชีวิตและไม่มีทางรักษาได้อีกเลย
ครอบครัวส่วนใหญ่ยังไม่ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหา
และเด็กจำนวนมากขาดโอกาสในการเข้าถึงการรักษา
กองทุนเพื่อการรักษาโรคตาในเด็กนี้
จะช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาลให้แก่ผู้ป่วยเด็กยากไร้ เพื่อให้เด็กได้รับการรักษาที่เหมาะสม
และช่วยให้เด็กในจังหวัดที่ห่างไกลได้เข้าถึงการรักษา
ดังนั้น โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จึงขอเชิญชวนทุกท่านร่วมมอบโอกาสในการรักษาให้แก่เด็กเหล่านี้ ผ่านกองทุนเพื่อการรักษาโรคตาในเด็ก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
สภาพปัญหาของการรักษาโรคตาในเด็ก
ดวงตาของเด็กแตกต่างจากดวงตาของผู้ใหญ่ เด็กมีดวงตาขนาดเล็ก แต่ละส่วนบอบบางและกำลังเติบโตขยายขนาด เด็กไม่สามารถบอกอาการความเจ็บป่วยได้ ไม่ร่วมมือในการตรวจ การ รักษา และการดูแลหลังผ่าตัด ดวงตาเด็กมีการอักเสบหลังผ่าตัดได้มาก เกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาได้ง่าย และเด็กจำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยเร็วเพื่อป้องกันโรคสายตาขี้เกียจ ด้วยเหตุผลดังกล่าว การรักษาโรคตาในเด็กจึงซับซ้อน ละเอียดอ่อน และแตกต่างจากการรักษาโรคตาในผู้ใหญ่
ในประเทศไทย มีเด็กจำนวนมากที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม เนื่องด้วยข้อกำหนดทางด้านสิทธิการรักษา การเข้าถึงการรักษาพยาบาล และความเพียงพอของเครื่องมือแพทย์ ซึ่งสามารถแบ่งปัญหาหลักออกเป็น 3 ประเด็น ดังนี้
1. ผู้ป่วยเด็กยากไร้ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาที่เหมาะสม
การรักษาโรคตาในเด็กหลายโรคมีความจำเป็นต้องใช้ยา อุปกรณ์ หรืออวัยวะเทียม ที่อยู่นอกสิทธิการรักษาของผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นสิทธิ 30 บาท สิทธิประกันสังคม หรือสิทธิข้าราชการ ยกตัวอย่างความจำเป็น เช่น ยาที่เบิกได้บางชนิดมีประสิทธิภาพไม่เพียงพอสำหรับรักษาโรคตาที่เป็นรุนแรง บางชนิดมีโอกาสเกิดผลข้างเคียงในเด็กได้มาก หรือไม่มีหลักฐานว่าปลอดภัยสำหรับเด็กเล็ก เลนส์เทียมที่เบิกได้เป็นเลนส์เทียมที่เหมาะสำหรับดวงตาผู้ใหญ่ การนำมาใส่ในดวงตาเด็กที่มีขนาดเล็กผิดปกติเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อน คอนแทกเลนส์ชนิดพิเศษที่ใช้ทดแทนเลนส์เทียมหลังผ่าตัดต้อกระจกในเด็กแรกเกิด มีราคาสูงมาก และไม่สามารถเบิกได้ แว่นตาซึ่งเป็นอุปกรณ์สำคัญสำหรับการรักษาโรคตาส่วนใหญ่ในเด็ก ไม่สามารถเบิกได้
ดังนั้น เพื่อให้ผู้ป่วยเด็กได้รับการรักษาที่เหมาะสมและปลอดภัยที่สุด การรักษาจึงจำเป็นต้องใช้ยา อุปกรณ์การแพทย์ หรืออวัยวะเทียมที่ไม่สามารถเบิกได้ ปัญหาเกิดขึ้นในผู้ป่วยเด็กยากไร้ ซึ่งครอบครัวไม่มีกำลังที่จะจ่ายค่ารักษาพยาบาลนี้ได้เอง ส่งผลให้เด็กเสียโอกาสในการรักษา ที่ผ่านมาแพทย์ได้มีความพยายามผลักดันให้สิทธิการรักษาของผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นแต่ข้อจำกัดทำให้สิทธินั้นไม่ครอบคลุมทั้งหมด ดังนั้น กองทุนเพื่อการรักษาโรคตาในเด็กนี้จึงเป็นที่พึ่งเดียวของผู้ป่วยเด็กยากไร้ที่มีโรคทางตา กองทุนจะช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาล เพื่อให้เด็กได้รับการรักษาที่เหมาะสม หายจากโรค กลับมามีการมองเห็นที่ดี มีคุณภาพชีวิตที่ดีเมื่อโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ต่อไป
2. ผู้ป่วยเด็กในจังหวัดที่ห่างไกลสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร เพียงเพราะขาดโอกาสที่จะได้รับการรักษาตั้งแต่เด็ก
โรคตาในเด็กจำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยเร็วที่สุด เนื่องจากเมื่อเด็กมองไม่ชัดเป็นเวลานานจะเกิดโรคสายตาขี้เกียจ ซึ่งถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม จะทำให้เด็กสูญเสียการมองเห็นตลอดชีวิต และไม่มีทางรักษาได้อีกเลย ในปัจจุบัน โรคสายตาขี้เกียจนี้ยังคงเป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้เด็กไทยสูญเสียการมองเห็น ซึ่งปัญหาหลักมาจากการเริ่มต้นการรักษาที่ช้า เป็นผลจากการที่ครอบครัวของเด็กไม่ได้ตระหนักถึงความสำคัญ และจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญการรักษาโรคตาในเด็กมีเฉพาะในจังหวัดใหญ่เพียงไม่กี่จังหวัด ส่งผลให้เด็กด้อยโอกาสในถิ่นทุรกันดารไม่ได้รับการรักษา
(เพื่อบรรเทาปัญหาดังกล่าว โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ได้ดำเนินการออกหน่วยตรวจรักษาและผ่าตัดผู้ป่วยโรคตาในเด็กในจังหวัดที่ห่างไกลมาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ยังมีเด็กอีกมากทั่วประเทศที่ขาดโอกาสในการรักษา เพื่อช่วยเหลือให้มากยิ่งขึ้น กองทุนเพื่อการรักษาโรคตาในเด็กนี้จะช่วยสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้ สนับสนุนการออกหน่วยของแพทย์เพื่อตรวจรักษาและผ่าตัดผู้ป่วยในจังหวัดที่ห่างไกล สนับสนุนการอบรมการรักษาโรคตาในเด็กให้แก่จักษุแพทย์ทั่วไป และสนับสนุนการผลิตจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ป่วยเด็กทั่วประเทศให้มากยิ่งขึ้น)

3. การขาดแคลนเครื่องมือสำหรับการตรวจรักษาและผ่าตัดดวงตาของเด็ก
การตรวจรักษาและผ่าตัดโรคตาในเด็กนั้นจำเป็นต้องใช้เครื่องมือเฉพาะ การขาดแคลนเครื่องมือแพทย์ทำให้มีข้อจำกัดในการตรวจและผ่าตัด ส่งผลเสียต่อผลการรักษา กองทุนเพื่อการรักษาโรคตาในเด็กนี้จะช่วยจัดหาบำรุงหรือซ่อมแซมเครื่องมือแพทย์ที่จำเป็นของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยอย่างถูกต้อง และการผ่าตัดประสบความสำเร็จสูงสุด
สรุปวัตถุประสงค์ของกองทุน
1. เพื่อช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาลให้ผู้ป่วยเด็กยากไร้ที่มีโรคทางตา
2. เพื่อสนับสนุนการออกหน่วยของแพทย์เพื่อตรวจรักษาและผ่าตัดตาให้เด็กในจังหวัดที่ห่างไกล
และส่งเสริมการรักษาโรคตาในเด็กในประเทศไทย
3. เพื่อจัดหา บำรุงหรือซ่อมแซมเครื่องมือแพทย์ที่ขาดแคลน เพื่อใช้ในการตรวจรักษาโรคตาในเด็ก
ร่วมสมทบทุน
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
ในบทบาทองค์กรสาธารณกุศล
มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องขอรับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนของสังคม
เพื่อช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาทางการแพทย์และสาธารณสุขไทย
อันเป็นรากฐานของการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน
ท่านสามารถร่วมสมทบทุนได้หลายช่องทาง ดังนี้
บริจาคด้วยตนเอง พร้อมระบุความประสงค์ให้เข้ากองทุนเพื่อการรักษาโรคตาในเด็ก
(รหัสกองทุน 22041738)
ตึกวชิรญาณวงศ์ชั้นล่าง เวลา 7.00-15.00 น.
ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ โทรศัพท์ 02 256 4382, 02 256 4505
ศาลาทินทัต ข้างตึกภปร. วันจันทร์ถึงศุกร์ เวลา 8.00-15.00 น. วันเสาร์อาทิตย์ เวลา 8.00-14.00 น.
เว้นวันหยุดราชการ
โทรศัพท์ 02 256 4397
ท่านสามารถบริจาคได้ในรูปของเงินสด
บัตรเครดิต หรือเช็คสั่งจ่ายสภากาชาดไทย
บริจาคผ่านบัญชีกลางของสภากาชาดไทย
และส่งหลักฐานแสดงความประสงค์ให้เข้ากองทุนเพื่อการรักษาโรคตาในเด็ก
(รหัสกองทุน 22041738)
เพื่อสภากาชาดไทยจะได้นำเงินบริจาคของท่านเข้ากองทุนฯ
บัญชีออมทรัพย์ ชื่อบัญชี สภากาชาดไทย
ธนาคารไทยพาณิชย์ สาชาสภากาชาดไทย
เลขที่บัญชี 045-2-88000-6
กรุณาส่งหลักฐานการโอน
พร้อมระบุความประสงค์บริจาคเข้ากองทุนเพื่อการรักษาโรคตาในเด็ก รหัสกองทุน 22041738 และแจ้ง ชื่อ ที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์ของท่าน
ส่งมาที่ฝ่ายพิธีการ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
ผ่านช่องทางดังนี้
Line ID: KCMHdonate
อีเมล phithikarn@gmail.com
โทรสาร 02
251 7901
โรงพยาบาลฯ จะออกใบเสร็จรับเงินและส่งกลับเป็นหลักฐานให้ท่านทางไปรษณีย์