เทคโนโลยีล่าสุดในการผ่าตัดต้อกระจก
มาทำความรู้จัก "เทคโนโลยีล่าสุด
ของการผ่าตัดสลายต้อกระจก" กันนะครับ
ต้อกระจกยังคงเป็นสาเหตุอันดับ 1 ที่ทำให้เกิดการสูญเสียการมองเห็นในประชากรโลก และแม้ว่าในปัจจุบัน
วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการรักษาผู้ป่วยทางจักษุวิทยาจะพัฒนาก้าวไกลไปมากกว่าในอดีต
แต่วิธีการรักษาโรคต้อกระจกที่ดีที่สุดก็คือการผ่าตัดสลายต้อและใส่เลนส์แก้วตาเทียมเข้าไปแทนที่ ซึ่งสามารถทำให้ผู้ป่วยกลับมามองได้ชัดเจน และสามารถใช้ชีวิตประจำวันตามปกติได้
การผ่าตัดลอกต้อและการใส่เลนส์แก้วตาเทียมเพื่อรักษาผู้ป่วยต้อกระจกนั้นถือกำเนิดขึ้นมาตั้งแต่
พ.ศ.2483 โดยในสมัยก่อนจะต้องทำการผ่าตัดแบบเปิดแผลขนาดใหญ่บริเวณส่วนริมของตาดำ
และทำการคลอดเลนส์ที่ขุ่นมัว อันเป็นสาเหตุของโรคต้อกระจกออก และทำการใส่เลนส์แก้วตาเทียมแบบใหญ่ซึ่งไม่สามารถพับได้
เข้าไปแทนที่ในลูกตา
โดยแม้ว่าการผ่าตัดด้วยวิธีดังกล่าวจะสามารถทำให้ผู้ป่วยกลับมามองเห็นได้ชัดเจน
แต่ต้องอาศัยระยะเวลาในการผ่าตัดและระยะเวลาฟื้นตัวค่อนข้างนาน
ในปัจจุบัน
ความรู้ทางการแพทย์สาขาจักษุวิทยาได้อาศัยความรู้ทางด้านกลศาสตร์ของไหล
วัสดุศาสตร์ และฟิสิกส์กลศาสตร์
มาพัฒนาวิธีการผ่าตัดต้อกระจกโดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูงเพื่อทำการสลายเลนส์ที่เป็นต้อกระจกออก
ควบคู่กับการพัฒนาเลนส์แก้วตาเทียมจากวัสดุชนิดนิ่มให้สามารถพับจนมีขนาดเล็กได้
ทำให้การผ่าตัดสลายต้อกระจกในปัจจุบัน มีแผลผ่าตัดที่เล็กมากเพียงไม่กี่มิลลิเมตร
ใช้ระยะเวลาในการผ่าตัดสั้นลง รวมทั้งมีระยะฟื้นตัวสั้น
สามารถกลับไปใช้สายตาเป็นปกติได้อย่างรวดเร็ว
อย่างไรก็ดีการผ่าตัดสลายต้อกระจกนั้นก็ยังมีสิ่งที่ท้าทายสำหรับจักษุแพทย์อยู่หลายประการ อาทิเช่น ความแม่นยำของเครื่องมือที่ใช้วัดค่าต่างๆในลูกตาเพื่อใช้คำนวนค่าของเลนส์แก้วตาเทียมที่จะใส่เข้าไปในลูกตาของคนไข้
การที่ลูกตาได้รับอันตรายจากพลังงานคลื่นเสียงความถี่สูงในจำนวนมากเนื่องมาจากเนื้อเลนส์ที่ค่อนข้างแข็ง
หรือความไม่แข็งแรงของเปลือกถุงหุ้มเลนส์ ซึ่งปัจจัยดังกล่าว
อาจจะไม่สามารถคาดเดาได้ก่อนการผ่าตัด ดังนั้นเทคโนโลยีของการผ่าตัดสลายต้อกระจกในปัจจุบันจึงมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาวิธีการวัดค่าต่างๆของลูกตาเพื่อที่จะสามารถคำนวนค่าของเลนส์แก้วตาเทียมได้แม่นยำยิ่งขึ้น
รวมทั้งการนำพลังงานจากแสงเลเซอร์มาใช้ช่วยในการสลายเนื้อเลนส์ที่เป็นต้อกระจก
เพื่อให้สามารถลดการใช้พลังงานคลื่นเสียงความถี่สูงลงได้
ภาควิชาจักษุวิทยา
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับฝ่ายจักษุวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
ซึ่งเป็นหนึ่งในสถาบันทางการแพทย์ระดับตติยภูมิชั้นนำระดับนานาชาติ
ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้ในการผ่าตัดสลายต้อกระจก
เพื่อให้การผ่าตัดดังกล่าวได้ผลลัพธ์เป็นไปตามที่จักษุแพทย์และผู้ป่วยต้องการ
และเพื่อให้การผ่าตัดดังกล่าวตั้งอยู่บนพื้นฐานของความปลอดภัยของผู้ป่วยเป็นอันดับแรก
โดยเราเชื่อว่าหากใช้เทคโนโลยีที่ดีจะสามารถทำให้การผ่าตัดมีโอกาสบรรลุผลที่คาดการณ์เอาไว้ได้มากยิ่งขึ้น
ประกอบกับภาวะแทรกซ้อนในระหว่างการผ่าตัดและหลังผ่าตัดจะมีโอกาสเกิดลดน้อยลง
ด้วยเหตุนี้ ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ และฝ่ายจักษุวิทยา
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จึงได้ร่วมกันวางแผนจัดตั้ง “ศูนย์ความเป็นเลิศในการผ่าตัดต้อกระจก (Cataract
Excellent Center)” ขึ้นในปี พ.ศ.
2559 โดยมีเข็มมุ่งเพื่อให้สามารถนำเทคโนโลยีที่ใหม่ล่าสุดในปัจจุบันมาใช้ในการผ่าตัดสลายต้อกระจกในผู้ป่วยที่เข้ารับการให้บริการได้
ซึ่งล่าสุดทางภาควิชาจักษุวิทยา
คณะแพทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ ฝ่ายจักษุวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
สภากาชาดไทย ได้นำเสนอชุดเครื่องมือผ่าตัดต้อกระจก
ซึ่งประกอบด้วยเทคโนโลยีที่นับว่าเป็นนวัตกรรมของการผ่าตัดทางจักษุวิทยาหลายเครื่องประกอบกันในการผ่าตัดให้กับผู้ป่วยต้อกระจกที่เข้ารับการผ่าตัดที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
โดยชุดเครื่องมือเหล่านี้จะทำหน้าที่ช่วยจักษุแพทย์ตั้งแต่การวางแผนก่อนผ่าตัด
รวมถึงช่วยกำหนดขั้นตอนต่างๆ จนเสร็จสิ้นขบวนการผ่าตัด
โดยชุดเครื่องมือดังกล่าวนี้
จะประกอบไปด้วย 6เทคโนโลยีล้ำสมัย
ที่จะมาประกอบกันเป็นชุดเครื่องมือผ่าตัดต้อกระจกแบบครบวงจร (Cataract Refractive Suite) ประกอบด้วย
1. เครื่องวัดค่าต่างๆในลูกตา เพื่อใช้ในการคำนวณค่าของเลนส์แก้วตาเทียมที่จะทำการใส่เข้าไปในลูกตาโดยไม่มีการสัมผัสกับลูกตาของผู้ป่วยเพื่อลดโอกาสติดเชื้อ ซึ่งเป็นเครื่องดังกล่าวจะที่ใช้เทคโนโลยี Swept-source Optical Coherence Tomography (Swept-source OCT) ในการสแกนหาจุดรับภาพชัด หาความโค้งและความหนาของกระจกตาของผู้ป่วยมาร่วมในการคำนวณขนาดกำลังของเลนส์แก้วตาเทียมเพื่อให้เกิดความแม่นยำสูงที่สุด โดยระบบดังกล่าว ยังสามารถตรวจคัดกรองความผิดปกติของจุดรับภาพชัดในตาของผู้ป่วย ก่อนที่จะเข้ารับการผ่าตัดสลายต้อกระจกได้อีกด้วย นอกจากนี้ เครื่องมือดังกล่าว ยังสามารถคำนวณขนาดกำลังของเลนส์แก้วตาเทียมในผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องได้รับการคำนวณด้วยวิธีที่ซับซ้อนกว่าผู้ป่วยทั่วไป เช่น ผู้ป่วยที่เคยได้รับการผ่าตัดหรือใช้แสงเลเซอร์ในการแก้ไขความผิดปกติของสายตามาก่อน (Post refractive surgery) หรือผู้ป่วยที่จะเข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์แก้วตาเทียม (IOL exchange) ได้เป็นอย่างดี
2.ชุดเครื่องมือวิเคราะห์วางแผนก่อนผ่าตัดด้วยระบบดิจิตอลซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 2 ส่วนหลัก คือ
2.1 Reference Unit สำหรับถ่ายภาพดวงตาผู้ป่วยโดยใช้ความละเอียดสูง
เพื่อทำการกำหนดตำแหน่งต่างๆบนพื้นผิวและภายในดวงตาได้อย่างแม่นยำ
พร้อมกับทำการวัดข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการผ่าตัด
เพื่อนำมาวิเคราะห์วางแผนการผ่าตัดให้เหมาะสมและเฉพาะเจาะจงสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย
2.2 Digital Marker จะสร้างภาพด้วยระบบดิจิตอลเพื่อให้จักษุแพทย์ทราบและสามารถจำลองตำแหน่งที่จะสร้างแผลผ่าตัดบนลูกตาของผู้ป่วย กำหนดขนาดถุงหุ้มเลนส์ที่ต้องการเปิด กำหนดตำแหน่งและแกนของเลนส์แก้วตาเทียมที่จะใส่เข้าไปในลูกตาของผู้ป่วย ซึ่งข้อมูลในส่วนนี้ จะไปปรากฏในกล้องจุลทรรศน์แบบ Real-time โดยใช้ระบบ Head-up display ในขณะที่จักษุแพทย์กำลังทำการผ่าตัดให้ผู้ป่วยได้
3. เครื่องเลเซอร์เพื่อช่วยการสลายต้อกระจก เป็นเครื่องมือที่ใช้พลังงานจากแสงเลเซอร์ความเร็วสูงมาก (Femtosecond
laser) เข้ามาช่วยเสริมในบางขั้นตอนที่สำคัญของการผ่าตัดสลายต้อกระจก
เช่นการเปิดแผลบริเวณกระจกตา การเปิดถุงหุ้มเลนส์ การช่วยในการสลายเนื้อต้อกระจก
โดยเครื่องเลเซอร์จะทำงานโดยใช้เทคโนโลยี
การสแกนพื้นที่ผิวภายนอกและภายในลูกตารวมทั้งเนื้อเลนส์ของผู้ป่วยให้ได้ภาพที่มีความละเอียดสูงในรูปแบบ
3 มิติ ที่เรียกว่า Optical Coherence Tomography
(OCT) ร่วมกับการใช้คอมพิวเตอร์และโปรแกรมควบคุมให้การปล่อยพลังงานแสงเลเซอร์ในระหว่างผ่าตัดมีความถูกต้องแม่นยำ
และเกิดความปลอดภัยสูงสุดแก่ผู้ป่วย
4.เครื่องสลายต้อกระจกด้วยเทคโนโลยีคลื่นเสียงความถี่สูงพร้อมระบบควบคุมแรงดันน้ำแบบอัตโนมัติ
โดยเครื่องรุ่นใหม่นี้จะสามารถควบคุมความคงที่ของแรงดันรวมทั้งสามารถควบคุมการไหลเข้าออกของน้ำในลูกตาระหว่างผ่าตัดได้แม่นยำมากขึ้น
ทำให้จักษุแพทย์สามารถควบคุมการใช้พลังงานคลื่นเสียงความถี่สูงในระหว่างการผ่าตัดได้ดีและราบรื่นยิ่งขึ้น
และมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนในระหว่างผ่าตัดและหลังผ่าตัดลดน้อยลง
5.
กล้องผ่าตัดที่มีกำลังขยายสูงเป็นพิเศษ และสามารถรองรับการแสดงผลผ่านระบบ Head-up display ทำให้จักษุแพทย์สามารถเรียกดูข้อมูลที่วางแผนเอาไว้ก่อนการผ่าตัดโดยไม่ต้องละสายตาออกมาในระหว่างผ่าตัด
ซึ่งระบบดังกล่าวจะทำให้จักษุแพทย์สามารถนำภาพผิวของลูกตาที่จำลองเอาไว้ก่อนการผ่าตัด
มาทาบลงบนภาพของลูกตาผู้ป่วยที่กำลังผ่าตัดจริง ทำให้สามารถตรวจสอบตำแหน่งของการลงแผลบนผิวลูกตาและตำแหน่งของเลนส์แก้วตาเทียม
ซึ่งล้วนแต่มีผลต่อค่าสายตาของผู้ป่วยภายหลังการผ่าตัดต้อกระจก
ได้อย่างถูกต้องและแม่นยำ นอกจากนี้ กล้องผ่าตัดดังกล่าว
ยังสามารถสแกนผิวของกระจกตาโดยใช้เทคโนโลยี Intraoperative Optical Coherence Tomography
(Intraoperative OCT) เพื่อตรวจสอบรายละเอียดโครงสร้างและรูปแบบของแผล (Wound
architecture) บนผิวกระจกตาได้อีกด้วย
6. เครื่องตรวจวัดค่าสายตาระหว่างผ่าตัดแบบ Real-time (Intraoperative Aberrometer) เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้จักษุแพทย์สามารถเลือกขนาดกำลังของเลนส์แก้วตาเทียมที่จะใส่เข้าไปในลูกตาของผู้ป่วยและสามารถยืนยันตำแหน่งของการใส่เลนส์แก้วตาเทียมและค่ากำลังของเลนส์เทียมที่เหมาะสมในระหว่างการผ่าตัด
เพื่อให้ได้ค่าสายตาตามที่วางแผนไว้ซึ่งการใช้เครื่องในการตรวจวัดค่าสายตาระหว่างผ่าตัดแบบ Real-time ร่วมกับชุดเครื่องมือวิเคราะห์วางแผนก่อนผ่าตัดแบบระบบดิจิตอลจะเป็นการร่วมกันในการตรวจสอบความถูกต้อง
ลดข้อผิดพลาด
และลดโอกาสที่จะเกิดค่าสายตาที่อาจมีความผิดปกติภายหลังการผ่าตัดต้อกระจกได้เป็นอย่างดี
ทั้งหมดนี้สามารถแสดงให้เห็นได้ว่า
ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และฝ่ายจักษุวิทยา
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย มีความมุ่งมั่น ที่จะนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์
และเทคโนโลยีที่มีล่าสุดในปัจจุบัน มาใช้ในการผ่าตัดสลายต้อกระจก
เพื่อให้เกิดความถูกต้องแม่นยำ และเกิดความปลอดภัยอันสูงสุดแก่ผู้มารับบริการ โดยในปัจจุบันโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
สภากาชาดไทย เป็นสถาบันทางการแพทย์เดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ที่สามารถนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ในการดูแลผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดสลายต้อกระจกอย่างเต็มรูปแบบและครบวงจร